หลังจาก เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ห้องบรรยาย สำนักบริหารคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพ ดร.พงษ์ศักดิ์ สวัสดิเกียรติ รองผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย เป็นประธานเปิดโครงการ Youth Sport Leaders Training Camp 2024 (ยูธ สปอร์ต ลีดเดอร์ เทรนนิ่งแคมป์) ซึ่งเป็นกิจกรรมในช่วงที่สอง ระหว่างวันที่ 2– 3 ตุลาคม หลังจากผ่านช่วงแรกในภาคปฏิบัติในช่วงวันที่ 29 ก.ย.-1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.อานนท์ วันลา กรรมการฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย และนายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยร่วมในพิธีเปิดโครงการ
สำหรับโครงการ ยูธ สปอร์ต ลีดเดอร์ เทรนนิ่งแคมป์ เป็นโครงการพัฒนานักกีฬาวอลเลย์บอล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนานักกีฬาระดับเยาวชน ในประเทศไทยที่มีความสามารถโดดเด่น ให้มีองค์ความรู้ มีทักษะ และมีทัศนคติที่ดีในการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพที่จะก้าวสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติอย่างมีคุณภาพ ซึ่งสมาคมฯได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย (Thailand Olympic Academy : TOA) เป็นการอบรมเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ ในรูปแบบของการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งสมาคมฯ ได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนักกีฬาทีมชาติมาให้ความรู้แก่นักกีฬาที่เข้าร่วมโครงการ และยังแต่งตั้งให้อดีตนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย (7 เซียน) ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านกีฬาเป็นเลิศและกีฬาอาชีพ รวมทั้งผู้ฝึกสอนกีฬาวอลเลย์บอลที่มีความรู้และประสบการณ์สูงมาเป็นผู้ฝึกสอนประจำโครงการ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลและเสริมสร้างทัศนคติในการเป็นนักกีฬาที่ดีให้กับนักกีฬา เพื่อให้มีองค์ความรู้ในการพัฒนาทักษะและสมรรถภาพของตนเองให้เป็นไปอย่างทันสมัยและถูกต้อง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเองต่อไป นอกจากนี้ ในช่วง 2 วันสุดท้ายยังมีกิจกรรมการให้ความรู้และเสริมสร้างอุดมการณ์โอลิมปิค ให้กับนักกีฬาที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณด้วยคุณค่าของโอลิมปิค 3 ประการนั่นคือความยอดเยี่ยม (Excellence) มิตรภาพ (Friendship) และการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน (Respect)
ในส่วนของผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลระดับเยาวชน อายุ 14-16 ปี (เกิดระหว่าง 1 มกราคม พ.ศ. 2552 – 31 ธันวาคม 2554) เป็นชาย 16 คน หญิง 16 คน คน รวม 32 คน ที่ได้รับการคัดเลือกโดยสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย โดยให้สิทธิ์โรงเรียนที่ได้อันดับ 1 และ 2 ในการแข่งขันรายการ U14 และ U16 รอบคัดเลือกระดับภาคและรอบชิงชนะเลิศ ปี 2566-2567 ให้ส่งนักกีฬาที่มีทักษะพื้นฐานกีฬาวอลเลย์บอลที่ดีที่สุด และมีสมรรถภาพทางกายสมบูรณ์แข็งแรง โรงเรียนละ 1 คน โดยโครงการจะมีการอบรมทั้งเชิงทฤษฎี จัดการบรรยายให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการเป็นนักกีฬาทีมชาติทุกๆด้าน และการอบรมเชิงปฏิบัติ จัดการฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะและองค์ความรู้โดยมีวิทยากรหรือผู้ฝึกสอนเป็นผู้ควบคุมดูแล พร้อมทั้งการประเมินผลนักกีฬาในโครงการ
สำหรับ วันที่ 2 ตุลาคม ภาคเช้าที่ห้องบรรยาย สำนักบริหารคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีกิจกรรมโดยวิทยากรจาก สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย และเสวนาเรื่อง “กำเนิดของโอลิมปิกเกมส์” โดย ดร.นิพัทธ์ อึ้งปกรณ์แก้ว และ ผศ.ดร.สุริยัน สมพงษ์ กรรมการฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย และหัวข้ออะไรเป็นอะไรในสัญลักษณ์ของโอลิมปิก โดย ผศ.ดร.อานนท์ วันลา ต่อด้วยภาคบ่าย เวลา 13.30 น. ที่ ยิมเนเซียม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีกิจกรรม “มินิโอลิมปิกเกมส์” โดย คณะวิทยากรและผู้ช่วยวิทยากร และเล่าสู่กันฟัง เรื่อง“ทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21” โดย ดร.พงษ์ศักดิ์ สวัสดิเกียรติ รองผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย
ส่วน วันที่ 3 ตุลาคม เริ่มเวลา ที่ห้องบรรยาย สำนักบริหารคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบรรยายทำความรู้จักกับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย โดย รศ.ดร.สุพิตร สมาหิโต ต่อด้วยสาระที่ต้องรู้เกียวกับสารต้องห้ามทางการกีฬา โดย ดร.ธนวุฒิ แสงบุญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารต้องห้ามทางการกีฬา และบรรยายทำไมต้องมวยไทยในสถานศึกษา มวยไทยจะไปโอลิมปิกจริงหรือ? โดย รศ.ดร.ต่อศักดิ์ แก้วจรัสวิไล นักวิชาการ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ส่วนช่วงบ่าย บรรยายการบาดเจ็บและการฟื้นฟูภายหลังการบาดเจ็บ โดย ดร.กภ.อำพร ศรียาภัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย
ส่วน นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยูธ สปอร์ต ลีดเดอร์ เทรนนิ่งแคมป์ เป็นโครงการ นักกีฬาวอลเลย์บอลระดับเยาวชนมีศักยภาพพร้อมก้าวสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติอย่างมีคุณภาพ โดยหวังให้มีเยาวชนจากโครงการอย่างน้อยร้อยละ 20 ได้ติดทีมชาติไทยต่อไป