ความเคลื่อนไหวของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2025 ของประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ หรือ เอฟเอวีบี มีมติเลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว แต่ทาง สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ยังต้องรออนุมัติ และงบประมาณจาก รัฐบาล ที่ขณะนั้นอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะรัฐมตรี
ล่าสุดสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า ในปีหน้ากำลังวางแผนเป็นเจ้าภาพศึกลูกยางหญิงชิงแชมป์โลก และ ซี.วี.ลีก หญิง ส่วนการแข่งขันวอลเลย์บอลเนชันส์ ลีก ซึ่งในปีที่แล้วไทย เป็นเจ้าภาพในรอบไฟนอลนั้น ปีนี้อาจต้องเว้นไปก่อน เพราะเวลาแข่งขันใกล้กับชิงแชมป์โลกมากเกินไป
นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับแผนงานของสมาคมฯ ในปีหน้า 2568 ได้กำหนดไว้ว่าจะจัดการแข่งขันรายการระดับนานาชาติ เอาไว้หลายแมตช์ หลักๆ ซึ่งจะเป็นรายการวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก ประมาณเดือนสิงหาคม และ ซี.วี.ลีก หญิง ที่เป็นแมตช์ระดับอาเซียน
นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ กล่าวต่อว่า ส่วนรายการเนชันส์ ลีก หญิง ที่สมาคมฯ ดำเนินการจัดมาต่อเนื่อง ในปีหน้า อาจต้องเว้น ไม่เสนอตัวจัดไปก่อน 1 ปี เนื่องจากช่วงเวลาของเนชันส์ ลีก ที่ชิงชัยกันระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม กระชั้นชิดกับศึกชิงแชมป์โลก มากเกินไป
“ในส่วนของซี.วี.ลีก ชาย ยังอยู่ระหว่างพูดคุยกันว่าจะเป็นเจ้าภาพจัดด้วยหรือไม่ ขณะที่ ความคืบหน้าการจัดวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก ตอนนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาในเรื่องงบประมาณอยู่ ซึ่งคาดว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด” นายสมพร กล่าว
สำหรับการแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก 2025 เอฟไอวีบี ได้ประกาศยืนยัน 32 ชาติ ที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันออกมาเรียบร้อยแล้ว โดย วอลเลย์บอลหญิงไทย ได้สิทธิ์อัตโนมัติในฐานะเจ้าภาพ เช่นเดียวกับ เซอร์เบีย แชมป์เก่า และ 3 อันดับแรกจาก 5 ทวีป ประกอบด้วย เอเชีย, แอฟริกา, ยุโรป, อเมริกาใต้ และ นอร์เซกา (อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และ แคริบเบียน) ส่วนอีก 15 ชาติ จะคัดเอาทีมที่มีอันดับโลกดีที่สุด ซึ่งยังไม่ได้สิทธิ์มาแข่งขัน
โดยทั้ง 32 ชาติในศึกวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2025 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีหน้า พร้อมอันดับโลกล่าสุดของแต่ละชาติ มีดังนี้
เจ้าภาพ – ไทย (อันดับ 13)
แชมป์เก่า – เซอร์เบีย (อันดับ 10)
เอเชีย – จีน (อันดับ 5), ญี่ปุ่น (อันดับ 7), เวียดนาม (อันดับ 33)
ยุโรป – ตุรกี (อันดับ 4), เนเธอร์แลนด์ (อันดับ 9), อิตาลี (อันดับ 1)
แอฟริกา – เคนยา (อันดับ 22), อียิปต์ (อันดับ 36), แคเมอรูน (อันดับ 27)
นอร์เซกา – โดมินิกัน (อันดับ 11), สหรัฐอเมริกา (อันดับ 3), แคนาดา (อันดับ 8)
อเมริกาใต้ – บราซิล (อันดับ 2), อาร์เจนตินา (อันดับ 17), โคลอมเบีย (อันดับ 21)
โควตาจากอันดับโลก (ที่ยังไม่ได้สิทธิ์จากทวีป) – โปแลนด์ (อันดับ 6), เยอรมนี (อันดับ 12), เบลเยียม (อันดับ 14), เช็กเกีย (อันดับ 15), เปอร์โตริโก (อันดับ 16), ยูเครน (อันดับ 18), ฝรั่งเศส (อันดับ 19), บัลแกเรีย (อันดับ 20), คิวบา (อันดับ 23), สวีเดน (อันดับ 24), เม็กซิโก (อันดับ 25), สโลวีเนีย (อันดับ 26), สโลวาเกีย (อันดับ 28), สเปน (อันดับ 29), กรีซ (อันดับ 30)